วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

สามชุกตลาดร้อยปี - ตลาดมีชีวิต พิพิธภัณฑ์มีชีวา


       


 ตลาดมีชีวิต พิพิธภัณฑ์มีชีวา






ต้นแบบตลาดร้อยปีที่ได้รับความนิยมในเชิงท่องเที่ยว ถ้าถามว่าที่ไหนเป็นที่รู้จักมากที่สุดก็คงต้องยกตำแหน่งให้ "ตลาดสามชุก" จ.สุพรรณบุรี

ตลาด สามชุกเป็นห้องแถวไม้ริมแม่น้ำท่าจีน มีความเป็นอยู่ในลักษณะผสมผสานระหว่างคนไทยและคนจีน ในอดีตเจริญรุ่งเรืองมาตลอด เป็นย่านการค้าสำคัญแห่งหนึ่งของลำน้ำท่าจีน การคมนาคมสัญจรไปมาและขนส่งสินค้าใช้แม่น้ำท่าจีนเป็นเส้นทางหลัก แต่มีเหตุซบเซาลงตั้งแต่ปี 2510 ด้วยการคมนาคมทางบกเริ่มเข้ามามีบทบาทและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การคมนาคมทางน้ำค่อยๆ หมดความสำคัญ ตลาดริมน้ำแห่งนี้จึงเริ่มซบเซา ผู้คนเริ่มย้ายออกไปทำมาหากินที่อื่น

30 กว่าปีที่ตลาดแห่งนี้อยู่ภายใต้ความเงียบเหงา

จน กระทั่งปี 2543 ตลาดสามชุกได้รับการเยียวยาจากกลุ่มอนุรักษ์ในชุมชน ซึ่งผลสำเร็จปรากฏในอีก 3 ปีต่อมา เมื่อตลาดสามชุกได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 12 เมืองนำร่องโครงการปฏิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่ของมูลนิธิชุมชนไท โดยการสนับสนุนของ พอช.สสส. และในปี 2548 ได้รับคัดเลือกจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ได้รับพระราชทานรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทองค์กร จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ในวันนี้ สามชุกมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง จากน้ำพักน้ำแรงและการมีส่วนร่วมของชุมชนที่ช่วยกันปลุกชีพให้ตลาดโบราณกลับ มาเป็นตลาดมีชีวิต มีผู้คนเริ่มเข้ามาเที่ยวชม จับจ่ายซื้อของ เมื่ออุปทานมี อุปสงค์จึงเกิด เจ้าของร้านรวงต่างๆ ที่ยังคงสภาพความเก่าแก่ก็กลับมาเปิดร้านอีกครั้ง พ่อค้าแม่ขายที่มีผลไม้ก็นำออกมาขายที่ตลาด ชาวบ้านที่มีฝีมือเรื่องการทำขนมไทยๆ หรืออาหารโบราณหาทานยากก็นำกลับมาขายใหม่ กลายเป็นแหล่งรวมของกินโบราณ ขนมโบราณ ของเล่นโบราณ ฯลฯ

...ช่วงเวลาของการเดินทอดน่อง ชมเรือนแถวบ้านไม้ การได้พูดคุยกับคนเฒ่าคนแก่ ตลอดจนการได้ต่อรองราคากับพ่อค้า แม่ค้า ที่นำของมาขายเอง (โดยไม่ได้ผ่านคนกลาง) ทั้งหมดนี้แหละ รวมกันแล้วคือส่วนผสมสำคัญที่เป็นเสน่ห์ทำให้ผู้มาเยือนหลงใหลไปกับบรรยากาศ ย้อนอดีตของตลาดร้อยปีแห่งนี้...

สำรวจกันดีๆ นอกเหนือจาก "ตลาดสามชุก" จ.สุพรรณบุรี ยังมีตลาดแปะยี่ห้อร้อยปีอีกหลายที่ ไม่ว่าจะเป็น "ตลาดเก้าห้อง" อ.บางปลาม้า "ตลาดร้อยปีศรีประจันต์" ไปทาง จ.ปทุมธานี มี "ตลาดริมน้ำร้อยปีระแหง" อ.ลาดหลุมแก้ว ที่กรุงเทพฯ มี "ตลาดนางเลิ้ง" เป็นตลาดบกร้อยปี หรือถ้าข้ามไปที่ จ.ฉะเชิงเทรา ที่เพิ่งเริ่มกลับมาฮิตเป็นแหล่งท่องเที่ยวเมื่อไม่นานมานี้ก็มี "ตลาดคลองสวน" และ "ตลาดบ้านใหม่"


       ตลาดสามชุกถือเป็นต้นแบบของการพัฒนาเมืองเก่า โดยเริ่มโครงการพลิกฟื้นมาตั้งแต่ปี 2543 หลังตลาดเริ่มซบเซาจนแทบไม่มีการซื้อขาย ชาวสามชุกจึงปรึกษาหารือกัน พร้อมจัดเวทีระดมความคิดเห็นเสนอปัญหาและวางแนวทางแก้ไขจนนำมาซึ่งกิจกรรมและแผนงาน เริ่มจากทำความสะอาดตลาดร้อยและการฟื้นฟูประวัติศาสตร์ตลาดท้องถิ่น ด้วยการจัดงานสงกรานต์และงานประกวดภาพเก่าเล่าขานตำนานสามชุก และกิจกรรมโครงการอีกหลายอย่าง จนทำให้ตลาดสามชุกกลับมามีชีวิตชีวา
 บรรยากาศที่เคยเงียบเหงา ก็กลับมาคึกคักอีกครั้ง
หัวใจสำคัญคือ ความเสียสละของชาวสามชุกที่ร่วมมือกันทำงานมาเป็นเวลากว่า 10 ปี และควรค่ายิ่งที่จะนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาชุมชนหรือตลาดแห่งอื่นๆ ของไทย ที่มีวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์ ที่ควรอนุรักษ์ไว้เพื่อคนรุ่นหลังต่อไป.-สำนักข่าวไทย





พิพิธภัณฑ์บ้านขุนจำนงจีนารักษ์ 

 




ขุนจำนงจีนารักษ์ นามเดิมว่า หุย แซ่เฮง เป็นคนจีนเกิดใน ประเทศไทย ใกล้วัดโพธิ์คอย อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ประกอบอาชีพค้าขาย มีโรงเหล้า และโรงยาฝิ่น เมื่อเยาว์วัยศึกษาเล่าเรียนที่ประเทศจีน กลับมาเมืองไทยเมื่ออายุ 20 กว่าปี ต่อมาได้สมรสกับคุณกุ้ยเอง แซ่เจ็ง เป็นคน อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี มีบุตรธิดา 3 คนดังนี้
1. นายโต้วซ้ง(บุญส่ง) จีนารักษ์ ปัจจุบันถึงแก่กรรม
2. นายติ้งซ้ง จีนารักษ์ ปัจจุบันถึงแก่กรรม
3. นางซิ้วลั้ง จีนารักษ์
ต่อมาได้เช่าที่ราชพัสดุปลูกบ้าน 3 ชั้น (คอนกรีตเสริมเหล็ก)ใน พ.ศ.2459 กิจการค้าขายของท่านเจริญรุ่งเรืองไปถึง 6 อำเภอ ท่านจึงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ประกอบกับท่านเป็น คนดีมีเมตตา ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก จึงได้เป็นผู้นำชุมชน คุณงามความดีของท่าน ทำให้ท่านได้รับบรรดาศักดิ์ เป็น ขุนจำนงจีนารักษ์ ตำแหน่งกรรมการพิเศษจังหวัดสุพรรณบุรี นายอากรสุรา-ฝิ่น ศักดินา 400 ไร่ จากพระบาทสมเด็จพระปก เกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2474 เมื่อรัฐบาลประกาศยกเลิกการสูบฝิ่น ท่านจึงหันมาทำสวนทำไร่ และเสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2517 รวมอายุได้ 83 ปี บ้านของท่านในส่วนของ คุณเคียวยี้ ซึ่งเป็นบุตรสาวของนาย โต้วซ้ง จีนารักษ์ อนุญาติให้คณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุก ปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยใช้ชื่อ พิพิธภัณฑ์บ้านขุนจำนง จีนารักษ์ ซึ่งเป็นสถานที่เก็บของโบราณ สำหรับผู้ที่สนใจเข้า ชมเพื่อศึกษาหาความรู้มาจนถึงปัจจุบันนี้













ร้านบ้านโค้ก 




   บ้านโค้ก เป็นบ้านไม้เก่าขนาดสองห้องสองชั้น ตั้งอยู่ซอย 2 ในสามชุกตลาดร้อยปี เป็นสถานที่ที่นำของสะสมที่เป็นสินค้าภายใต้เครื่องหมาย โค้ก ซึ่งเจ้าของที่มีความประทับใจได้รวบรวมเก็บสะสมมานานหลายสิบปี มีทั้งขวดน้ำอัดลมแบบต่างๆที่ผลิตในประเทศ และต่างประเทศ โปสเตอร์โฆษณาโต้ก ของชำรวย ของแถม และรูปภาพต่างๆ แน่นอนว่า หลายชิ้นคงหาดูได้ยากแล้วในปัจจุบัน ด้วยรูปแบบและการจัดวางที่สวยงาม ทำให้มีผู้สนใจเข้าไปชื่นชมกันมากมาย เฉพาะรูปสาวน้อยหุ่นอุดมสมบูรณ์หน้าร้าน ก็เรียกความสนใจให้กับทุกคนที่ผ่านไปผ่านมา ต้องแวะเข้ามาขอเป็นคู่ถ่ายภาพ นับเป็นความสำเร็จของการทำ "ทำสิ่งใหม่ให้เข้ากับสิ่งเก่า ทำของเก่าให้ดูเก๋า"









ร้านถ่ายภาพศิลป์ธรรมชาติ





ย้อนรำลึกผ่านภาพถ่ายเก่าในอดีตเป็นหนทางหนึ่ง ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ได้รับรู้เรื่องราวต่างๆ ที่ย้อนกลับไปในรุ่นที่พ่อแม่ยังเป็นหนุ่ม สาว และภาพถ่ายเก่าที่เกิดขึ้นในช่วงที่เมืองไทยเริ่มมีร้านถ่ายรูปที่มีเพียงสี ขาว ดำ และเทา นี่เองกลายเป็นเสน่ห์ให้ใครหลายคนต้องการจะได้ภาพถ่ายอย่างในอดีตที่มีตัวเองอยู่ในภาพด้วย





  ซึ่งเปิดอยู่ด้วยกันทั้งหมด 5 ร้าน พอเริ่มมีการถ่ายภาพแบบดิจิตอล ก็ปรับร้านใหม่เป็นร้านถ่ายรูปแบบดิจิตอล ซึ่งเหลือร้านศิลป์ธรรมชาติที่ยังคงอนุรักษ์การถ่ายภาพแบบดังเดิมทุกอย่างจะมีการเปลี่ยนบ้างเพียงเพิ่มการถ่ายภาพแบบสีเข้ามาเท่านั้น เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า





        หลังจากที่มีการโปรโมตตลาด 100 ปีสามชุก เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวได้มาเยี่ยมชมเพื่อย้อนรำลึกถึงภาพเก่าในอดีต ตั้งแต่ ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ร้านศิลป์ธรรมชาติกลายเป็นหนึ่งในสถานที่ที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจเพื่อมาถ่ายภาพเก็บเป็นที่ระลึก และหลายคนที่เป็นคนรุ่นใหม่ต้องการจะมาดูว่าการถ่ายภาพด้วยกล้องในอดีตเป็นอย่างไร ป้าเจ้าของร้านพร้อมที่ให้ทุกคนได้เข้ามาเยี่ยมชม โดยไม่ได้ปิดบัง



โรงแรมอุดมโชค



ในสมัยก่อน แต่ละวันจะมีเรือสินค้ามาจอดเทียบท่าตลาด สามชุกจำนวนมาก การค้าคึกคักอย่างเช่น เรือสินค้าของ บริษัทสุพรรณขนส่ง จำกัด แต่สมัยนั้นยังไม่มีที่พัก จึงมีการ ดัดแปลงบ้าน ห้องแถวเปิดเป็นโรงแรม มี “โรงแรมสำราญรมย์” ของลุงสำราญ กลิ่นหอมหวล เป็น โรงแรมแห่งแรกของตลาดสามชุก ต่อมาก็มี “โรงแรมอุดมโชค” เป็นแห่งที่สอง

ประวัติความเป็นมาของโรงแรมอุดมโชค เปิดบริการมาตั้งแต่สมัยเตี่ยของแปะซิมแล้ว เตี่ยของแปะ ซิม เดินทางมาจากเมืองจีน รุ่นเตี่ยมาอยู่ที่สามชุก แปะซิม เป็นชาวจีนแต้จิ๋วผสมจีนแคระ แต่เดิมโรงแรมนี้มีคน เดินทางมาพักมาก คนเต็มเกือบทุกห้อง เพราะสมัยก่อน ต้องอาศัยการเดินทางที่ใช้เวลา ส่วนใหญ่คนที่จะมาพัก เป็นเซลล์ขายของต่างจังหวัด คนทางใต้ที่เดินทาง มาทำงานแถบนี้
โรงแรมอุดมโชคเป็นโรงแรมเก่าแก่ ลักษณะเป็น อาคารไม้สองชั้น กั้นห้องออกเป็น 12 ห้อง เปิดใช้อยู่ 6 ห้อง เนื่องจากบางห้องไม่มีห้องน้ำในตัว ปัจจุบัน โรงแรมแห่งนี้ ไม่ได้เปิดบริการแล้ว แต่เปลี่ยนเป็นร้านกาแฟ มีงานศิลปะ ให้ชมกัน มีภาพวาดของศิลปิน 





“สามชุกตลาดร้อยปี” ไม่ได้ไกลอย่างที่คิด ใช้เวลาไม่ถึงสองชั่วโมงก็ถึงแล้วครับ
   ตลาดสามชุกในวันหยุดสุดสัปดาห์คึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากทั่วสารทิศ เพราะนอกจากจะเป็นตลาดเก่าริมน้ำอายุนับร้อยปี ที่นี่ยังมีร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรมฯลฯ ที่อยู่เคียงคู่กับตลาดแห่งนี้มา ล้วนแล้วแต่น่าสนใจ





เปิดตัวภาพยนตร์ "สามชุก" ขอเพียงโอกาส อีกสักครั้ง


วันที่เข้าฉาย05 สิงหาคม 2552
แนวหนังดราม่า
ผู้กำกับปื๊ด ธนิตย์ จิตนุกูล

นักแสดงปรเมศร์ น้อยอ่ำ, วิมลเรขา ศิริชัยราวรรณ, ธีรภัทร์ แย้มศรี, พิเชษฎ์พงษ์ โชคประดับ, อำนาจ บัวปรอด, พงศธร ศรีบุญเพ็ง

เรื่องย่อ ขอเพียงโอกาส อีกสักครั้ง


     เรื่องราวชีวิตของวัยรุ่นไทยกลุ่มหนึ่งที่กำลังอยู่ในวัยที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต กลายเป็นทาสของยาเสพติดที่ระบาดเข้ามาในโรงเรียนอย่างเงียบๆด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ด้วยความรักและความเข้าใจของอาจารย์ในโรงเรียน จึงทำให้พวกเขารอดพันจากจุดจบที่น่าเศร้าในชีวิตไปได้? สร้างจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2536 ในโรงเรียน สามชุกรัตนโภคาราม อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี
จากเรื่องจริง ของเด็ก 7 คนในอำเภอสามชุก ที่มีชีวิตวัยมัธยมเหมือนเด็กทั่วไป มีความรัก มีความคะนอง ทั้ง 7 คน? ได้แก่ วาล พัน ยอด เอก นักเรียนตัวแสบชั้น ม. 5 และรุ่นน้องม.4 ที่สนิทกันอีก 3 คน เทพ ปอด โบ๊ะ ชีวิตเด็กทั้ง 7 คนกำลังจะเปลี่ยนไป เมื่อวาลต้องเริ่มทำงานอย่างหนักเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระหนี้สิน แม่และวาลต้องแบกหนี้สินของพ่อที่เสียไปแล้วทิ้งไว้ให้ตามลำพังแม่ลูก? วาลต้องทำงานพิเศษหลังเลิกเรียนหลายอย่าง และนี่คือช่องทางแรกที่ยาบ้าแทรกเข้ามาในกลุ่มเด็ก 7 คน ไอ้ดำเพื่อนที่อู่แนะนำให้วาลรู้จักยาบ้า ที่จะทำให้วาลทำงานได้ทั้งวันทั้งคืนโดยไม่เหน็ดเหนื่อย กว่าจะรู้ตัวชีวิตวาลก็ตกอยู่ใต้อำนาจของมันอย่างช้าๆ แล้ววาลเป็นสะพานที่นำยาไปสู่เพื่อนๆ อีกหกคน แทนที่ยาจะช่วยให้วาลมีเงินช่วยแม่ใช้หนี้ แต่มันกลับกลายเป็นความต้องการยามากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อนทั้งหกหันมาทดลองยาด้วยหลากหลายเหตุผล เทพที่บ้านมีฐานะที่สุดเป็นสปอนเซอร์ให้เพื่อนๆ ทำให้พวกวาลไม่เคยขาดยา
ทุกคนรู้ว่ามันคือสิ่งผิด และไม่ดี แต่พวกเขาไม่สามารถเลิกได้ เรื่องราวเริ่มลุกลามจนถึงตำรวจ ทุกคนพร้อมจะตราหน้าพวกเขาว่าเป็นเด็กเหลือขอ ไม่มีอนาคต อาจารย์พินิจได้ยื่นมือเข้าช่วยเด็กๆไว้ เด็กๆจึงไว้ใจอาจารย์ ทำให้อาจารย์ได้รู้เรื่องราวและปัญหา อาจารย์พินิจพยายามปรับความคิดของเด็กโดยให้ใช้ปัญญาและยืดอกรับปัญหาต่างๆ? รวมทั้งปรับความเข้าใจของคนใกล้ชิดเด็ก และชาวบ้านในชุมชนสามชุกไปพร้อมๆกัน? ให้ทุกคนได้รู้ว่าปัญหายาเสพติดไม่ได้เป็นความผิดของเด็กฝ่ายเดียว ผู้ปกครองต้องเอาใจใส่ ชุมชนต้องป้องกัน ท่ามกลางเสียงเซ็งแซ่ด่าทอโยนความผิดให้กัน อาจารย์พินิจพยายามตะโกนดังๆ ให้ทุกคนในชุนชน และสังคมรู้ว่าปัญหาของเด็ก 7 คนนี้เป็นเพียงลางบอกเหตุ หากทุกคนเลือกที่ปัดปัญหาออกไปง่ายๆ โดยการตัดโอกาศเด็กพวกนี้และปล่อยให้เด็กทั้ง 7 จมหายไปกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อนาคตก็ต้องมีเด็กๆ ลูกๆหลานๆ ของคนในชุมชน ที่ต้องพลาดติดมันอีกอย่างแน่นอน อาจารย์พินิจขอโอกาสให้เด็กๆ?? ได้พิสูจน์ตัวเองอีกครั้ง และรับปากจะทำให้เด็ก 7 คน เลิกยากลับมาเป็นคนดีและอยู่ร่วมในชุมชนอย่างสงบสุขให้ได้
อาจารย์พินิจนำเด็ก 7 คน เข้ามาอยู่ค่ายประจำที่โรงเรียน และดูแลอย่างใกล้ชิด ให้เด็กทำกิจกรรมต่างๆ เป็นกิจวัตร? ทุกเช้าต้องออกกำลังกาย ปลูกกุหลาบ และทำอาหารกินกันเอง การเลิกยาอาจไม่ใช่เรื่องยาก? แต่ท่ามกลางปัญหา และสิ่งยั่วยุมากมาย ถ้าหัวใจ และมิตรภาพของเด็กทั้ง 7 ไม่เข้มแข็งพอ พวกเขาก็จะไม่สามารถผ่านพ้นมันไปได้ อาจารย์พินิจทำได้มากสุดก็แค่ยืนเคียงข้าง และเฝ้ามองวันที่เด็กทั้ง 7 จะก้าวผ่านพ้นมันไปได้ในที่สุด วันนี้ดอกกุหลาบต้นเล็กๆ ที่เด็กและอาจารย์ช่วยกันฟูมฟักออกดอกโชว์ความงาม มันคือตัวแทนของความฝัน และความหวังของทุกคน หากไม่ได้รับโอกาสในวันนั้น คงไม่มีวันนี้ เด็กทั้ง 7 เรียนจบ มีงานดีๆทำ และวันนี้เด็ก 7 คนกลายเป็นพลังผลักดัน และเป็นแรงบันดาลใจให้สามชุกกลายเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง คอยต่อต้านภัยจากยาเสพติดอย่างยั่งยืนตลอดไป





สามชุก-ตลาดร้อยปีสุพรรณฯ คว้ารางวัลยูเนสโก

ตลาด สามชุกร้อยปี อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ได้รับรางวัลอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก จากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ประจำปี 2552 เนื่องจากยูเนสโกพิจารณาแล้วเห็นว่า ชาวบ้านในชุมชนสามชุก ได้ร่วมมือกันพลิกฟื้นตลาดเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี กลับมามีชีวิตชีวาและฟื้นฟูตลาดท้องถิ่นจากฐานรากอย่างแท้จริง





รางวัลที่ได้รับ

1. สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ได้มอบรางวัล "อนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี ๒๕๔๘ ประเภทองค์กร" ให้กับคณะกรรมการตลาดสามชุกเชิงอนุรักษ์

2. ได้รับรางวัล "ชุมชนพัฒนาท่องเที่ยวดีเด่น" จาก สำนักพัฒนาท่องเที่ยว กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา โดยคัดเลือกจาก 200 ชุมชนทั่วประเทศ แล้วคัดเหลือ28 ชุมชน สุดท้ายแล้วเหลือ 11 ชุมชน โดย สามชุกตลาดร้อยปีติด 1 ใน 11 ชุมชน ซึ่งทางคณะกรรมการตลาดจะไปรับรางวัล "ชุมชนพัฒนาท่องเที่ยวดีเด่น" จาก ดร. สุวิทย์ ยอดมณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในขณะนั้น ในวันที่ 19 พ.ย. 2550

3. เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้มอบรางวัล "ชุมชนดีเด่นด้านการท่องเที่ยว ในโครงการประกวดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย(Thailand Tourism Awards) ปี ๒๕๕๐" 

4. หนังสือพิมพ์เส้นทางผู้นำ มอบโล่ประกาศเกียรติคุณ "คนดีศรีแผ่นดิน ประจำปี ๒๕๕๐" เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติ นายพงษ์วิน ชัยวิรัตน์ ในวันที่ 29 ธันวาคม 2550

5. สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ประกาศเรื่อง "การยกย่องสังคมแห่งการเรียนรู้ต้นแบบ" ให้แก่ สามชุกตลาดร้อยปี ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2551

6. องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประจำประเทศไทย ได้ประกาศผลการประกวดโครงการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชีย และแปซิฟิก ประจำปี 2552 โดยสามชุกตลาดร้อยปีได้รับรางวัล "อนุรักษ์ดี (Award of Merit)" ประกาศเมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2552


แหล่งอ้างอิง http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/lifestyl





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น